กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใย โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

 กองทัพภาคที่ 3 ห่วงใย โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
 
วันที่ 15 ธันวาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 112 ณ ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน“เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (หน่วยรับผิดชอบ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4) ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน และ พันโท หญิง บุณฑริกา  ฑีฆวาณิช รอง โฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
    ปัจจุบัน สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ทั่วโลกมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกถึง 9.4 ล้านคน และยังพบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึงร้อยละ 50 มีรายละเอียดดังนี้.-
    1. อาการของโรคความดันสูง
    โรคความดันสูงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูงระยะรุนแรงก็อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย หายใจสั้น เลือดกำเดาไหล ตาพร่ามัว ใจสั่น เจ็บหน้าอก  เหนื่อยง่าย แขนขาอ่อนแรง ขาบวม ซึ่งอาการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและบอกไม่ได้ชัดเจน หรือในบางรายทราบเมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันสูงขึ้นแล้ว ทำให้ต้องหมั่นมีการตรวจสุขภาพและวัดค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันระวังตัว
    2. สาเหตุของโรคความดันสูง
       โรคความดันสูง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
       2.1 ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Primary Hypertension หรือ Essential Hypertension)         ซึ่งไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุการเกิดได้
       2.2 ชนิดที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสภาวะ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคไต ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด การใช้ยาบางชนิด การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
    3. การวินิจฉัยโรคความดันสูง
    แพทย์จะวินิจฉัยโรคความดันสูงโดยดูจากการวัดค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และมีการตรวจวัดหลายครั้ง เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ซึ่งค่าความดันโลหิตที่วัดได้จะแบ่งออกเป็น 2 ค่า โดยตัวแรก (หรือตัวบน) เรียกว่า ค่าความดันซิสโตลิก (Systolic) เป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวและตัวที่สอง (หรือตัวล่าง) เรียกว่า ค่าความดันไดแอสโทลิก (Diastolic) เป็นค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว คำนิยามของโรคความดันสูงว่าเป็นภาวะที่ตรวจพบความดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
    4. ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันสูง
    หากปล่อยให้เกิดโรคความดันสูงเป็นระยะเวลานานและดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยมักจะพบโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแดง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองในด้านความจำ มีปัญหาทางด้านสายตา หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจ      ขาดเลือดเฉียบพลัน ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโรคความดันสูงโดยตรง หรือ  โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
    5. การรักษาโรคความดันสูง
       5.1 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยการลดอาหารประเภทโซเดียมสูง(เกลือแกงไม่เกิน1ช้อนชา/น้ำปลาไม่เกิน1ช้อนโต๊ะต่อวัน) เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ธัญพืช ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ(120นาทีต่อสัปดาห์)
       5.2 การใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลงอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้การรักษายังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะหากเป็นชนิดที่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษาหายได้มากกว่าชนิด     ที่ไม่ทราบสาเหตุ
    6. การป้องกันโรคความดันสูง
การควบคุมความดันโลหิตในระยะยาวสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นพื้นฐาน รวมไปถึงการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจดูว่าความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
    ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวัง     โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้าง มีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป
********************************











ความคิดเห็น